Last updated: 24 ธ.ค. 2565 | 173 จำนวนผู้เข้าชม |
หมวกนิรภัย อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันศีรษะ (Head Protection Devices)
หมวกนิรภัย หรือหมวกเซฟตี้ใช้สำหรับป้องกันของแข็งตกกระทบศีรษะ ส่วนใหญ่ตัวหมวกจะทำมาจากพลาสติกแข็ง โลหะ หรือไฟเบอร์กลาส (ใยแก้ว) มีสายรัดศีรษะ ที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับศีรษะของผู้สวมใส่ได้ และสายรัดคาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยล็อกให้หมวกติดอยู่กับศีรษะ เพิ่มความปลอดภัยได้อีกระดับ
หมวกเซฟตี้แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ตามการใช้งาน ได้แก่
- หมวกเซฟตี้ประเภท A ทำมาจากพลาสติก หรือไฟเบอร์กลาส นิยมใช้งานกันทั่วไป เช่น งานก่อสร้าง งานในคลังสินค้า
- หมวกเซฟตี้ประเภท B ทำมาจากพลาสติก หรือไฟเบอร์กลาส สำหรับใช้งานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าแรงสูงโดยเฉพาะ
- หมวกเซฟตี้ประเภท C ทำมาจากโลหะ เหมาะสำหรับใช้ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน แต่ไม่ควรใช้กับงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า
- หมวกเซฟตี้ประเภท D ทำมาจากพลาสติก หรือไฟเบอร์กลาส เหมาะกับใช้ในงานดับเพลิง
นอกจากนั้นถ้าลองสังเกตจะเห็นว่าหมวกเซฟตี้ตามท้องตลาดมีหลายสี ซึ่งบางครั้งในหลายๆ โรงงาน ก็ใช้สีของหมวกเพื่อแยกตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลากรอีกด้วย
อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันหู (Ear Protection)
อุปกรณ์เซฟตี้สำหรับป้องกันหู จะช่วยลดแรงกระแทกจากคลื่นเสียงที่อาจเป็นอันตรายกับแก้วหูและกระดูกหู เหมาะกับการใช้งานในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้างที่ใช้เครื่องเจาะปูน หรือใช้ในพื้นที่ที่มีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา อย่างโรงงาน หรือคลังสินค้า เป็นต้น อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันหู มี 2 แบบ คือ
ที่อุดหู (Ear plug)
มีลักษณะเป็นจุกยางเล็กๆ ใช้อุดเข้าไปในรูหู ทำมาจากไฟเบอร์กลาส ยาง โฟม ขี้ผึ้ง หรือฝ้าย ซึ่งที่อุดหูไฟเบอร์กลาสจะป้องกันเสียงได้ดีที่สุด ช่วยลดความดังได้ถึง 20 เดซิเบล แต่ข้อเสียคือแข็ง อาจทำให้ระคายเคืองได้ง่าย ส่วนที่เป็นยาง จะช่วยลดความดังได้ 15-30 เดซิเบล และแบบฝ้าย จะช่วยลดความดังได้เพียง 8 เดซิเบลเท่านั้น
ที่ครอบหู (Ear muff) มีลักษณะคล้ายหูฟังแบบไร้สายใช้ครอบหูทั้งสองข้าง บริเวณที่ครอบหูจะมีวัสดุป้องกันเสียงอยู่ แล้วบุทับด้วยโฟม พลาสติก หรือยาง เพื่อใช้เป็นตัวดูดซับเสียงอีกชั้นหนึ่ง ช่วยลดความดังของเสียงได้มากถึง 40 เดซิเบล ที่ครอบหูบางชนิดยังออกแบบให้มีเครื่องมือสื่อสารในตัว เพื่อสะดวกในการประสานงาน โดยไม่ต้องถอดที่ครอบหูออกนั่นเองค่ะ
แว่นนิรภัย อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันดวงตา (Eye Protection)
แว่นนิรภัย สำหรับป้องกันดวงตาจากสารเคมี สะเก็ดไฟ เศษวัสดุ หรือเศษฝุ่น ส่วนใหญ่มักสวมใส่ขณะปฏิบัติงานในพื้นที่เขตก่อสร้าง งานเชื่อม-ตัดโลหะ หรืองานทดลองเกี่ยวกับสารเคมี แว่นนิรภัยมีทั้งรูปแบบที่เป็นแว่นตา สำหรับใช้ในงานทั่วไป กับแบบที่เป็นแว่นครอบตา สำหรับใช้ในงานที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น งานเจียระไน งานสกัด/กระแทกวัตถุ งานเชื่อมหรือตัดโลหะ รวมไปถึงงานที่เกี่ยวข้องกับแสงจ้า หรือรังสี
ถุงมือนิรภัย อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันมือและแขน (Hand Protection)
การทำงานในโรงงาน คลังสินค้า หรืองานก่อสร้าง ซึ่งต้องหยิบจับอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ถุงมือนิรภัย จึงเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์เซฟตี้ที่จำเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญคือต้องเลือกถุงมือให้เหมาะสมตามลักษณะของงาน ไม่อย่างนั้นอาจทำให้หยิบจับอะไรไม่ถนัดหรือการป้องกันที่ไม่ดีพอ ชนิดของถุงมือนิรภัยแบ่งตามลักษณะเนื้องาน ได้ดังนี้
-ถุงมือใยหิน สำหรับป้องกันความร้อนหรือไฟ
-ถุงมือใยโลหะ สำหรับงานที่ต้องหั่น ตัด หรือจับของมีคม
-ถุงมือยาง สำหรับงานไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นงานเกี่ยวกับไฟฟ้าแรงสูง ต้องสวมถุงมือหนังทับอีก 1 ชั้น
-ถุงมือยางไวนีล/ถุงมือยางนีโอพรีน สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี
-ถุงมือหนัง สำหรับงานไม้ งานโลหะ งานขัดผิว แกะสลัก หรืองานเชื่อมที่ไม่ได้ใช้ความร้อนสูง
-ถุงมือหนังเสริมใยเหล็ก สำหรับงานหลอมหรือถลุงโลหะ
-ถุงมือผ้า สำหรับงานทั่วไปที่ต้องหยิบจับสิ่งของ ใช้เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกหรือของมีคมอย่างมีด
-ถุงมือผ้าแบบเคลือบน้ำยา สำหรับงานที่ต้องสัมผัสสารเคมีเล็กน้อย เช่น งานบรรจุกระป๋อง หรืองานในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร
เสื้อนิรภัย อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันลำตัว (Body Protection Equipment)
อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันลำตัว เรียกว่า เสื้อนิรภัย ใช้ป้องกันอันตรายจากสารเคมี ความร้อน ตะกั่ว หรือสะเก็ดไฟ ซึ่งเสื้อนิรภัยที่ใช้ในงานต่างชนิดกันก็ทำมาจากวัสดุต่างกัน เช่น
-เสื้อนิรภัยป้องกันสารเคมี จะทำจากโพลีเมอร์ที่ทนต่อฤทธิ์ของสารเคมีได้
-เสื้อนิรภัยกันความร้อน ทำจากผ้าทอเส้นใยแข็งเคลือบผิวด้านนอกด้วยอะลูมิเนียม
ถ้าต้องการใช้เพื่อป้องกันการติดไฟ ต้องใช้เสื้อนิรภัยที่ชุบด้วยสารป้องกันไฟ
-เสื้อนิรภัยตะกั่ว ทำจากผ้าใยแก้วฉาบผิวด้วยตะกั่ว ใช้สำหรับป้องกันร่างกายจากรังสีต่างๆ
-เสื้อสะท้อนแสง ใช้สำหรับสวมใส่ทับเสื้อผ้าปกติ ในงานที่ทำในพื้นที่แสงสว่างน้อย ที่อับ หรือที่แคบ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย สวมเพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็น เช่น งานก่อสร้างบริเวณทางด่วน งานที่ทำบนที่สูง บนท้องถนน งานสำรวจอาคาร ฯลฯ โดยปกติแล้วเสื้อสะท้อนแสงจะมองเห็นได้ง่ายทั้งเวลากลางวันและกลางคืน มีหลากหลายสี เช่น สีเหลือง สีส้ม และสีเขียว
รองเท้านิรภัย อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันเท้า (Foot Protection)
รองเท้านิรภัยอุปกรณ์เซฟตี้ที่ออกแบบมาเพื่อลดแรงกระแทก ป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับนิ้วเท้า เท้า และข้อเท้า มีหลายชนิด เลือกใช้ตามความเหมาะสมของงาน เช่น
-รองเท้านิรภัยแบบหัวโลหะ รับน้ำหนักตัวได้มากถึง 1,100 กิโลกรัม และทนแรงกระแทกของวัตถุที่หนักราวๆ 20 กิโลกรัมได้เป็นอย่างดี เหมาะกับผู้ทำงานก่อสร้าง
-รองเท้านิรภัยแบบหุ้มข้อ ทำจากยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์ ใช้เป็นฉนวนกันกระแสไฟในงานไฟฟ้า
-รองเท้านิรภัยแบบหุ้มแข้ง ใช้ในงานถลุงโลหะ หลอมโลหะ และงานเชื่อมต่างๆ สำหรับป้องกันความร้อนจากการถลุงและป้องกันการกระเด็นของโลหะที่หลอมเหลว
-รองเท้านิรภัยแบบพื้นไม้ ใช้ในโรงงานที่พื้นเปียกชื้นตลอดเวลา เช่น โรงงานผลิตเบียร์ เป็นต้น
-รองเท้าบูธยาง ทำจากไวนิล นีโอพรีน ยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ที่สามารถทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีได้ มีทั้งแบบหัวรองเท้าธรรมดาและหัวโลหะ สำหรับใส่ในโรงงานทั่วไป มีแบบหัวรองเท้าเสริมเหล็ก สำหรับใช้ในอุตสาหรกรรม รองเท้าบูธยางจะมีพื้นหนา ช่วยกันลื่น กันของมีคม ทนน้ำมัน กรด สารเคมี และป้องกันไฟฟ้าสถิตย์ สามารถใช้ในงานเกี่ยวกับปิโตรเคมีได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น รองเท้านิรภัยจะต้องสวมใส่สะดวกและถอดออกได้ง่ายในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
หน้ากากนิรภัย อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันระบบหายใจ
หน้ากากนิรภัย เป็นอุปกรณ์สำหรับป้องกันระบบหายใจ สามารถใช้กรองอนุภาคแขวนลอยที่ปะปนอยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่นควัน ฟูมโลหะ (อนุภาคของโลหะที่กระจายตัวอยู่ในอากาศ) ไอระเหยจากก๊าซหรือสารเคมี เป็นต้น สำหรับโรงงานที่มีฝุ่นละอองน้อย อาจใช้เป็นหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 แทนได้ แต่สำหรับโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี สารระเหย หรือโรงงานที่พนักงานต้องเจอกับฝุ่นละอองตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ จำเป็นต้องใช้หน้ากากกันฝุ่นชนิดกรองอากาศแบบมีไส้กรอง จะมีประสิทธิภาพในการกรองสารแขวนลอยต่างๆ มากกว่านั่นเองค่ะ
อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันใบหน้า
นอกจากแว่นตานิรภัย ยังมีอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันอันตรายบริเวณดวงตาและใบหน้า ส่วนใหญ่จะใช้ในงานเชื่อมโลหะ ตัดโลหะ หรืองานซ่อมบำรุง ใช้สำหรับป้องกันใบหน้าและดวงตาจากสะเก็ดไฟ เศษของแข็ง ได้แก่
-หน้ากากเชื่อม ใช้ในงานเชื่อมเหล็ก หรือโลหะโดยเฉพาะ ช่วยป้องกันใบหน้า และดวงตาจากสะเก็ด ชิ้นส่วนโลหะ ความร้อน แสงจ้า และรังสี
-ครอบป้องกับใบหน้า เป็นอุปกรณ์สำหรับสวมทั้งศีรษะ ใบหน้า ลำคอ ไหล่ จนถึงบริเวณหน้าอก ใช้สำหรับป้องกันสารเคมี ฝุ่น และสารอื่นๆ จากที่ทำงานที่เป็นอันตราย
เข็มขัดนิรภัย อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันการตกจากที่สูง
อุปกรณ์เซฟตี้ชิ้นนี้เป็นตัวช่วยเพิ่มความปลอดภัยหากคุณต้องทำงานบนพื้นที่สูง เช่น งานก่อสร้าง งานเช็ดกระจก งานไฟฟ้า ฯลฯ เข็มขัดนิรภัยที่ได้มาตรฐาน ควรเป็นลักษณะแบบสายรัดลำตัว คาดยาวตั้งแต่หัวไหล่ หน้าอก เอว และช่วงขา เพื่อเอาไว้ช่วยพยุงตัว หากต้องทำงานบนที่สูงและโล่ง ไม่มีที่ให้จับยึด
หลักในการเลือกอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลมาใช้ให้เซฟตี้ได้แบบ 100%
อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ควรเลือกให้เหมาะสมกับงาน และบุคคล สวมใส่สบาย น้ำหนักเบา ไม่เป็นภาระให้ผู้สวมใส่ต้องแบกน้ำหนักจนทำงานไม่สะดวก
อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลต้องได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองมาตรฐาน หรือผ่านการทดสอบจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันอันตราย ทนทาน เก็บรักษาง่าย และซ่อมแซมได้ง่ายเมื่อเกิดชำรุด
16 พ.ค. 2567